เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณมีประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ โปรดคลิก “ยอมรับ”

นักศึกษาทีม NAKAMA คณะ ICT ม.มหิดล (ICT Mahidol) คว้ารางวัลชมเชยจากผลงาน “I Wheel Go” ในการแข่งขัน Moral Hackathon 2022 พัฒนานวัตกรรมทางสังคม ภายใต้หัวข้อ “Make A Change ทุกคนเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน”

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ขอแสดงความยินดีกับทีม NAKAMA ประกอบด้วยนายธนบูรณ์ ทรัพย์มนตรี นายศุภกานต์ เหล่ารัตนกุล นายธนภัทร จำนงรัตน์ นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT นานาชาติ) ชั้นปีที่ 4 และดร.ศิริเพ็ญ พงษ์ไพเชฐ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ อาจารย์ที่ปรึกษา ในโอกาสที่ได้รับรางวัลชมเชย พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท และประกาศนียบัตร จากผลงาน “I Wheel Go” ในการแข่งขัน Moral Hackathon 2022 พัฒนานวัตกรรมทางสังคม ภายใต้หัวข้อ “Make A Change ทุกคนเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน” ซึ่งจัดโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และในรูปแบบออนไลน์ผ่าน Facebook Live: Thai PBS และ Moral Spaces

ผลงาน “I Wheel Go” เป็นแอปพลิเคชันเชิงแผนที่ที่จะเข้ามาช่วยผู้พิการรวมถึงบุคคลปกติทั่วไปในการร่วมกันสร้างสังคมที่ไม่แบ่งแยก (inclusiveness) และส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่การเดินทางอย่างเท่าเทียม (accessibility) โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถบอกเส้นทางที่สะดวก เหมาะสมกับการการเดินทางของผู้พิการ และระบุถึงสิ่งที่กีดขวางหรือเป็นอุปสรรคในการเดินทาง ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้พิการเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนให้น่าอยู่ด้วยการป้อนข้อมูลสิ่งที่กีดขวางหรือเป็นอุปสรรคในการเดินทางด้วตนเอง นอกจากนี้ยังมีช่องทางการพูดคุยกับผู้อยู่ในชุมชนนั้นๆ และกลุ่มบุคคลที่มีเจตนารมณ์ในการพัฒนาชุมชนร่วมกันอีกด้วย 

การแข่งขัน Moral Hackathon 2022 พัฒนานวัตกรรมทางสังคม ภายใต้หัวข้อ “Make A Change ทุกคนเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน” เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันได้พัฒนาแนวคิด การออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป ที่มีความสนใจงานด้านการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม ได้สร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาคุณธรรมในสังคม ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนการรณรงค์ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีหรือพฤติกรรมเชิงบวกให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยมุ่งเน้นแนวคิดหลักที่มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งองค์ประกอบในการตัดสินแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) มีความใหม่ และตรงตามความต้องการของสังคม 2) เกิดขึ้นจริงและสามารถแพร่กระจายไปสู่สังคมได้ และ 3) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม