เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณมีประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ โปรดคลิก “ยอมรับ”

คำยืนยันจากใจ ผู้เรียน

นาย อาภากรณ์ เก่งการนา, Database and Intelligence Systems
ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) รุ่นที่ 14

ในช่วงเวลาที่ผมเรียนที่คณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านั้นช่วยบ่มเพาะทั้งทักษะเฉพาะทางด้าน IT รวมถึงทักษะในการใช้ชีวิตของผมอีกด้วย ระบบการเรียนการสอนที่คณะ ICT ม.มหิดลมุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านการทำโปรเจกต์ต่าง ๆ ผมได้ทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริง ในขณะนั้นพวกเราได้รับการสนับสนุนและ คำแนะนำที่ดีจากอาจารย์หลาย ๆ ท่านอีกด้วย

นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว ผมยังได้เข้าร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตรอื่น ๆ อีกหลายกิจกรรม ผมเชื่อว่าการทำกิจกรรมเหล่านั้นช่วยให้ผมพัฒนาทักษะในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ทักษะการจัดการ ทักษะการแก้ปัญหา และ ทักษะการสื่อสาร อีกทั้ง คณะฯยังมอบโอกาสอื่น ๆ อีกมากมายให้กับผม เช่น โอกาสในการฝึกงานทั้งในและต่างประเทศ โอกาสในการเข้าร่วมการแข่งขันต่าง ๆ และ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น พื้นที่ในการทำงาน และเจ้าหน้าที่ของคณะฯ ก็ให้ความช่วยเหลือนักศึกษาเป็นอย่างดี จากประสบการณ์ดี ๆ เหล่านี้ที่ผมได้รับจากคณะฯ ทำให้ผมเรียนรู้ เติบโตขึ้น และ มีกำลังใจที่จะแบ่งปันความรู้ให้กับสังคมสืบต่อไป

คุณวราลี ธนาพันธรักษ์ นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst) ธนาคารแห่งประเทศไทย
ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) รุ่นที่ 14

จากการที่ได้เรียนคณะ ICT ทำให้ได้รับความรู้ในหลายๆ ด้านในสายงาน IT ที่กว้างขวางและมีหลายแขนงมาก จากในหลักสูตรจะเห็นได้ว่าวิชาที่เรียนมีความหลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นภาพรวมของการทำงานในสาย IT แต่ก็ต้องยอมรับว่า หลังจากเรียนจบออกมา คงไม่มีใครพร้อมทำงาน 100% ด้วยความรู้ที่เรียนในมหาวิทยาลัยมาอย่างเดียว ทุกคนต่างต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองใหม่ทั้งนั้น แต่การเรียนที่คณะ ICT ช่วยให้เราได้เตรียมตัวพร้อมรับกับการเรียนรู้ในชีวิตที่ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานความรู้ทางด้าน IT เช่น Network, Database, Programming หรือจะเป็นทักษะการปรับตัวเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ การเรียนรู้ด้วยตัวเอง กระบวนการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาต่างๆ การทำงานเป็นทีม รวมถึงการสื่อสาร โดยเฉพาะด้วยภาษาอังกฤษซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้คือหัวใจสำคัญที่นักศึกษาจะได้จากการเรียนในคณะ ICT

คุณสุภัสสรา รอดรัตษะ Associate Full-Sack Developer, IBM Thailand
ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) รุ่นที่ 14

หลังจากเรียนจบไปได้เกือบปี เรารู้สึกได้เลยว่าความรู้ที่ได้จากการเรียนคณะนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานจริงๆ ได้ในหลายๆ ด้าน เริ่มแรกเราจะได้เรียนวิชาปูพื้นฐานอย่าง basic programming ไม่ว่าจะเป็น C และ JAVA บางคนอาจจะคิดว่ามันตกเทรนด์ไปแล้วบ้างอะไรบ้าง แต่ความเป็นจริง JAVA เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ Object-oriented programming (OOP) ซึ่งเป็นที่นิยมในการเขียนและพัฒนาโปรแกรมในยุคปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อเราแม่นในเรื่องนี้แล้ว การเรียนรู้ภาษาและ Framework ใหม่ๆ จึงไม่ได้ยากอีกต่อไป นอกจากนี้ คณะ ICT ยังส่งเสริมการเรียนรู้เชิงธุรกิจ แม้ว่าในตอนเรียนเราอาจจะไม่เห็นความสำคัญของตัววิชานี้มากนัก เพราะเราคิดว่าจบสายโปรแกรมมิ่งมาทำไมต้องเข้าใจโลกธุรกิจด้วย แต่ความเป็นจริงแล้ว การที่เราเข้าใจธุรกิจอย่างลึกซึ้งนั้น จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่ลูกค้าต้องการ และสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างง่ายขึ้น

นอกเหนือจากความรู้ที่ได้แล้ว สิ่งสำคัญที่เราได้รับจากการเรียนที่นี่อยู่ตลอดคือ “โอกาส” เราจะมีโอกาสต่างๆ มากมายในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น โอกาสในการฝึกงานในต่างประเทศ เช่น Japan, Taiwan, Germany และอื่นๆ โอกาสในการเข้าร่วมการแข่งขัน โอกาสในการเข้าร่วมการฝึกอบรม และอีกต่างๆ มากมาย ตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่เรียนมา คณะ ICT จะคอยมอบโอกาสต่างๆ เหล่านี้อยู่เสมอ ถ้าเรารู้จักที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้ เราก็จะสามารถเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเราได้มากขึ้นอีกด้วย

สุดท้ายนี้ การเรียนรู้ในห้องเรียนอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอต่อการทำงานในโลกที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราควรรู้จักที่จะเปิดใจและคว้าโอกาสให้กับตัวเองในการเรียนรู้และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จในอนาคต

คุณณัฐณิชา อ้นวงษ์ ผู้วิเคราะห์ฝ่ายบริหารข้อมูลและดาต้าอนาไลติกส์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) รุ่นที่ 14

สิ่งที่ได้รับจากการเรียน คณะ ICT คือได้เรียนเนื้อหาวิชาการที่หลากหลายและครอบคลุม ทำให้เราสามารถเข้าใจภาพรวมเพื่อนำไปประยุกต์ใช้การกับทำงานได้ นอกจากนี้ วิชาที่ได้เรียนรู้ในคณะยังเป็นพื้นฐานสำคัญที่ได้ใช้ในทำงาน เช่น วิชา Database และ Data Mining & Data Warehouse ที่ทำให้เราสามารถใช้ความรู้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องยอบรับว่าไม่มีวิชาไหนที่ใช้ในการทำงานได้ 100% เพราะการทำงานนั้นมีหน้างานที่แตกต่างกันออกไป ไม่เหมือนกับตอนเรียน แต่ก็เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เราสามารถเรียนรู้ต่อยอดเพื่อนำไปปรับใช้กับการทำงานจริงได้เยอะมาก เกือบทุกเรื่องที่ได้เรียนรู้จากที่ทำงาน มักจะเป็นเรื่องที่เคยเรียนที่คณะมาแล้วทั้งนั้น หากจำเป็นต้องเรียนรู้ใหม่ ใช้เวลาไม่นานก็เข้าใจแล้ว นอกจากนี้ การเรียนที่คณะ ICT ยังได้มีโอกาสในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมรับน้อง (Salaya Tour) และ เปิดบ้านวิชาการมหิดล (MUICT Open House) ทำให้ช่วยพัฒนา Soft Skills ของเราได้เป็นอย่างมาก ทั้งการทำงานเป็นทีม การวางแผนการดำเนินงาน การติดต่อประสานงานกับเพื่อน บุคคลภายนอก บุคลากร อาจารย์ ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้มีทักษะตรงนี้และทำให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น เรารู้ว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อให้งานประสบผลสำเร็จ

สิ่งสุดท้ายที่คณะ ICT ให้คือมิตรภาพ การได้ทำงาน Project กับกลุ่มเพื่อน ทำให้มีความสนิทสนมกลมเกลียว ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พี่บุคลากรในคณะนั้นต่างก็มีความใส่ใจนักศึกษา เปรียบเสมือนพี่เลี้ยงที่คอยดูแลตลอด และอาจารย์ที่คอยช่วยเหลือเรื่องการเรียน เนื่องจากการเรียนเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อเข้ามาเรียนก็ต้องปรับตัวพอสมควร มีบางครั้งเราไม่เข้าใจเนื้อหาจึงไปถามอาจารย์ท้ายคาบ อาจารย์ก็มีความเต็มใจในการสอน และอาจารย์ยังสอนวิชาอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเรียน รวมไปถึงการใช้ชีวิตอีกด้วย ทำให้เรารู้สึกว่าการได้เรียนที่คณะ ICT เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดอย่างนึงในชีวิต ทำให้เราได้มีโอกาสดีๆ ในการทำงาน ถ้ากลับไปเรียนใหม่ก็จะเลือกเรียนคณะนี้อยู่ดี

คุณเสาวลักษณ์ มีศรี QA (Quality Assurance)
ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) รุ่นที่ 14

หลังจากที่ได้ศึกษาที่คณะ ICT มหิดล มาตลอดระยะเวลา 4 ปี ได้เรียนรู้อะไรที่หลากหลายมาก ด้วยความที่หลักสูตรเป็นการปูพื้นฐานโดยรวมแล้วก็ค่อยๆ เพิ่มวิชาที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 3 เทอม 1 แล้วค่อยเลือกแทร็ก (สาขา) เจาะจงในปี 3 เทอม 2 ซึ่งคิดว่าการปูทางแบบนี้น่าจะเหมาะกับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองสนใจด้านไหน ค่อยๆ เรียนเพื่อให้รู้ว่าตัวเองสนใจหรือไปได้ดีในทางด้านไหน อย่างพี่เองส่วนตัวก็ไม่ใช่สาย coding จนมาเจอวิชา Introduction to E-Business และ Introduction to Management Informations Systems ก็รู้สึกว่าตัวเองสนใจด้านนี้ จนได้เลือกแทร็ก MS (Management Informations Systems ) และพบว่าวิชาเรียนค่อนข้างตอบโจทย์ความสนใจของตัวเอง จนรู้สึกว่าตัวเองมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น และจบการศึกษามาในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ หลักสูตรแบบนี้ก็มีข้อเสีย เพราะเป็นเหมือนการเรียนแบบหว่านแห (เรียนรวมๆ ก่อนค่อยเจาะลึก) ถ้าคนไม่ชอบ จับทางไม่ได้ หรือมีทางที่มุ่งสนใจอยู่แล้วก็อาจจะรู้สึกไม่โอเคไปเลย ในตอนแรกพี่ก็รู้สึกเหมือนกัน บางทีก็รู้สึกว่าทำไมเราต้องเรียนอันนี้ด้วย ทำไมไม่เข้าใจเลย ทำไมงานเยอะขนาดนี้ และอีกหลายๆ อย่าง แต่ก็พยายามปรับตัวอยู่เรื่อยๆ บวกกับมีเพื่อนๆ และพี่ๆ คอยช่วยเหลืออยู่ตลอด บางครั้งก็ได้ความช่วยเหลือจากอาจารย์และพี่บุคลากรเลยก้าวผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ แต่ก็ต้องยอมรับกันตามตรงว่าบางอย่างอาจจะไม่สามารถซัพพอร์ตเราได้ 100% เช่น สภาพแวดล้อมที่อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับการทำงานหรือการเรียนในบางจุด อุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ไม่ค่อยได้อัปเดตตามกาลเวลา แต่ทว่าก็พยายามพัฒนาอยู่เสมอ จากที่เห็นมาก็มีจุดที่พัฒนาได้อย่างเห็นได้ชัดและรวดเร็ว แต่ก็มีจุดที่ต้องใช้เวลาเช่นกัน

โดยส่วนตัวพี่ชอบที่คณะและรายวิชาให้ทำงานกลุ่มที่ลงมือทำจริง เพราะทักษะการทำงานกลุ่มให้อะไรหลายอย่างมาก ได้ฝึกคิด วิเคราะห์ วางแผน ได้เจอปัญหา ได้แก้ปัญหา และทักษะการนำเสนองานต่างๆ สำหรับพี่สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ในการนำมาปรับใช้ แต่มันก็มีข้อเสียตรงที่งานกลุ่มค่อนข้างเยอะและทับซ้อน จนบางทีทำให้ workload มันหนักเกินไปสำหรับนักศึกษา แต่ก็มีการพยายามปรับปรุงในจุดนี้อยู่หลายครั้งก็มีทั้งจุดที่ลงตัวและไม่ลงตัว พี่กับเพื่อนๆ ก็พยายามปรับตัวให้ผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นไป (อย่างหนักหน่วง)

อีกสิ่งที่สำคัญของที่นี่คือโอกาส มีเวทีให้ไปแข่งขันเก็บประสบการณ์ มีกิจกรรมให้พัฒนาตัวเอง รวมไปถึงมี Job Fair ที่ให้หางานได้ตั้งแต่ปี 4 เทอม 2 อย่างเพื่อนๆ พี่หลายคนก็ได้งานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ พี่เองก็ด้วย ซึ่งตรงนี้ก็เป็นใบเบิกทางที่ดีอีกช่องทางหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับทักษะของตัวเองด้วยนะว่าเราจะมุ่งเน้นทางไหนและจะเลือกคว้าโอกาสไหน

ในส่วนของชีวิตการทำงานของพี่ ความรู้บางอย่างก็สามารถนำมาใช้ได้เลย บางอย่างก็เคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง บางอย่างก็ไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งสุดท้ายแล้วเราก็ต้องศึกษาต่อยอดอีกอยู่ดี แต่ก็มีส่วนที่ได้เปรียบอยู่บ้างตรงที่บางอย่างเราเคยได้เรียนมาบ้าง เคยได้ยินมาบ้าง การนำไปศึกษาต่อก็ช่วยให้ต่อยอดได้เร็วกว่าคนอื่น แล้วก็พวก soft skill ก็ได้นำมาปรับใช้เยอะอยู่เหมือนกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งงาน บริษัทที่ทำ และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ด้วยนะ (บางคนทำตำแหน่งเดียวกัน แต่คนละบริษัทก็งานต่างกันแล้ว)

สุดท้ายนี้พี่เชื่อว่าทุกที่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่แล้ว แต่ถ้าอยากลองค้นหาตัวเอง อยากลองเรียนอะไรที่หลากหลาย อยากฝึกความแข็งแกร่ง (เพราะที่นี่เรียนไปพร้อมกับการทำ Project) พี่คิดว่าคณะ ICT มหิดลก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจค่ะ

คุณณัฐชนน โพธิ์เงิน Technical Consultant บริษัท Beryl8
ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) รุ่นที่ 9

สวัสดีครับ ผม นายณัฐชนน โพธิ์เงิน ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) รุ่นที่ 9 จบปีการศึกษา 2557 ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บริษัท Beryl8 ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา ในตำแหน่ง Technical Consultant โดยบริษัทนี้เป็นบริษัทที่ให้คำปรึกษาทั้งทางด้านธุรกิจ และพัฒนาระบบ IT เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กรของลูกค้าตั้งแต่ระดับ Enterprise ไปจนถึง SME มี Project กับบริษัทและองค์กรในประเทศไทยมากมาย อาทิเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรี การบินไทย ปตท. และองค์กรชั้นนำอื่น ๆ อีกมากมาย หน้าที่ในส่วนงานของผม คือ การพัฒนาระบบ IT ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมถึงเสนอแนะ Best Practice ทั้งด้านเทคโนโลยี และด้านธุรกิจให้กับลูกค้าใน Project นั้นๆ

ผมจะขอเล่าประสบการณ์ที่ผมได้รับในฐานะบัณฑิตคณะ ICT ในส่วนของหลักสูตร การเรียนการสอน อาจารย์ บุคลากรในคณะ และประโยชน์ในหน้าที่การงาน ที่ผมได้รับจาก ICT Mahidol ข้อมูลและประสบการณ์ที่จะเล่าต่อไป มาจากตัวของผมเองที่จบการศึกษามาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ณ วันที่เขียนบทความนี้ หลักสูตรและการเรียนการสอนปัจจุบันของคณะ ICT Mahidol อาจมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาขึ้นไปจากข้อมูลเหล่านี้แล้วด้วยครับ

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนครับว่า คณะ ICT MAHIDOL เรียนอะไรกันบ้าง?
คณะนี้ชื่อเต็มๆ คือ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology) ซึ่งถือว่าเป็นคำที่กว้างมาก คณะ ICT Mahidol ถูกพัฒนามาจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) ถ้าพูดถึง Computer Science แล้ว สิ่งที่นักศึกษาจะได้เรียน คือ Programming, Algorithm และความรู้เชิงวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ แต่พอพัฒนามาเป็น คณะ ICT แล้ว องค์ความรู้ที่นักศึกษาจะได้เรียนนั้น ขยายเพิ่มมากขึ้นยิ่งกว่านั้น นั่นคือ นักศึกษาจะได้รับความรู้ในเชิงธุรกิจ (Business) การจัดการ (Management) และโทรคมนาคม (Computer Network and Telecommunications) ซึ่งคณะ ICT เอง ได้มีการแบ่ง Major หรือ Track ให้นักศึกษาเลือกศึกษาตามความสนใจ ความถนัด หรือความชอบ ทั้งหมด 8 Tracks ด้วยกัน

1. Computer Science – เรียนเจาะลึกเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีวิชาเด่นๆ อย่าง Algorithm ที่สอนให้นักศึกษาคิดหาทางแก้ปัญหาเชิงคอมพิวเตอร์อย่างชาญฉลาด รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสามารถเขียนออกมาเป็นสมการคณิตศาสตร์ได้ หรือ Embeded Programming ที่เป็นการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมด้วย Device ที่นำมาทำ Internet of Things ได้

2. Computer Networks – เรียนเจาะลึกในด้าน Network การสื่อสารระหว่าง Computer ผ่าน Internet และความปลอดภัยในการสื่อสาร (Cyber Security)

3. Database and Intelligent Systems – นักศึกษาที่ชอบวิชา Database หรือระบบจัดเก็บข้อมูล สามารถมาเรียนความรู้เชิงลึกเพิ่มเติมได้ใน Track นี้ และยังมีการเสริมความรู้ในด้าน Data Science และ Artificial Intelligence เพิ่มอีกด้วย

4. Software Engineering – เป็น Track ที่เน้นสอนกระบวนการพัฒนา Software ให้มีประสิทธิภาพด้วย Methodology ต่างๆ ละเอียดลึกไปถึงการทำเอกสารที่ใช้ในกระบวนการพัฒนา Software

5. E-Business Systems – เป็น Track ที่สอนให้นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ด้าน IT เพื่อโยงให้เกิดคุณค่าทางด้านธุรกิจได้ นักศึกษาจะได้โอกาสคิดค้น Start Up ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงเรียนรู้มุมมองต่างๆของธุรกิจ ตั้งแต่จุดริเริ่มไปจนถึงการทำให้ธุรกิจคงอยู่ต่อไปได้

6. Management Information Systems – เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการระบบข้อมูล การทำความเข้าใจองค์กรธุรกิจในแง่มุม IT รวมถึงความเข้าใจใน Business Process เพื่อนำเทคโนโลยีมาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

7. Multimedia Systems – เน้นการใช้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างผลงานเชิง Graphic และสื่อที่มีความหลากหลาย เช่น Animation หรือ Visualization ต่างๆ

8. Health Information Technology – เรียนเจาะลึกถึงระบบจัดการข้อมูลของโรงพยาบาล หรือสาธารณสุข ซึ่งมีความต้องการทางด้าน IT ที่เฉพาะเจาะจง

คณะ ICT Mahidol มีให้เลือกถึง 8 Tracks ที่แตกต่างกัน ถือเป็นการมอบตัวเลือกให้นักศึกษาได้อย่างดีเลยครับ ซึ่งการเรียนแบบแยก Track นั้นจะเริ่มที่ชั้นปีที่ 3 เทอม 2 โดยในเทอม 1 จะเป็นการเรียนเบื้องต้น หรือ Introduction ของทุก Track ให้นักศึกษาได้มีโอกาสทำความเข้าใจและค้นหาความต้องการของตนเองว่าจะเลือก Track ไหน

และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นก็คือ คณะ ICT Mahidol เป็นหลักสูตรนานาชาติ ที่ดำเนินการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา สื่อการสอน หรือการพูดคุยกับอาจารย์ผู้สอนทั้งในและนอกห้องเรียน คณะ ICT Mahidol ขึ้นชื่อมากว่า อาจารย์จะไม่คุยภาษาไทยกับนักศึกษาเลย ยกเว้นจะเป็นช่วงนอกเวลาทำการจริงๆ เพื่อให้นักศึกษาได้สามารถฝึกใช้ภาษาอังกฤษ ที่เป็นทักษะสำคัญในปัจจุบัน ได้อย่างเต็มที่ที่สุด

เรียนที่คณะ ICT MAHIDOL แล้วได้อะไร?
หลักสูตรของคณะ ICT Mahidol ถือว่า Challenge มาก ๆ สำหรับนักศึกษาครับ ผมพูดจากประสบการณ์ตรงเลยว่าไม่ได้เรียนง่าย มี Assignment หรือ Project ที่ท้าทายนักศึกษาจริงๆ รวมถึงความกว้างของความรู้ที่คณะพยายามนำเสนอ ซึ่งล้วนแต่เป็นความรู้ที่มีประโยชน์และนำไปใช้ได้เมื่อเรียนจบไปแล้วไปทำงาน แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้บัณฑิตคณะนี้มีคุณภาพเช่นกันครับ ผมขอบอกเป็นข้อ ๆ ถึงจุดแข็งและประโยชน์จากการเรียนที่คณะ MUICT

1. ภาษาอังกฤษและทักษะในการสื่อสาร คณะนี้เน้นย้ำด้านการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารมาก อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น การจะจบการศึกษาจากคณะ ICT Mahidol ได้ จะต้องผ่าน Exit Exam ที่เป็นการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษว่าถึงเกณฑ์ที่คณะตั้งไว้หรือไม่ว่าสามารถใช้งานภาษาอังกฤษได้จริง ซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกที่จะสอบกับคณะ หรือ ยื่นคะแนนสอบ TOEIC และการสอบวัดผลภาษาอังกฤษอื่น ๆ ที่นักศึกษาเลือก ซึ่งคะแนนเหล่านี้นักศึกษานำไปใช้ยื่นสมัครงานต่อไปได้อีกด้วย และที่คณะยังมีการสอนวิชา Public Speaking ที่เป็นวิชาที่ผมรู้สึกว่ามีประโยชน์มากๆ เป็นวิชาที่สอนการพูดในที่สาธารณะให้กับผู้ฟัง รวมถึงทักษะการ Present หรือ Pitch หัวข้อต่างๆ ทักษะนี้มีประโยชน์มากมายในหลากหลายสายอาชีพที่นักศึกษาจะได้ไปทำงาน หรือ วิชาอย่าง Business Writing ที่สอนให้มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในการเขียนเพื่อสื่อสารในสภาพแวดล้อมของการทำงานได้ ยกตัวอย่างเช่น การเขียน Email เป็นภาษาอังกฤษที่เข้าใจง่าย สื่อสารได้ครบ และสุภาพเพื่อใช้ในการคุยงานทั่วไป

2. Business Mindset หรือ การคิดแบบประยุกต์นำความรู้มาใช้ในเชิงธุรกิจ ในส่วนตัวผม เรียนจบไปทำงานด้าน IT Consult ซึ่งต้องคลุกคลีและใช้ความรู้ด้าน Business พอสมควร ถือว่าคณะได้สร้างความได้เปรียบให้กับตัวผมเมื่อเรียนจบไปแล้ว ข้อนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในหลายสายอาชีพ IT หรือ Non-IT เพราะสุดท้ายแล้วงานที่เราต้องทำจะต้องโยงเข้าไปในธุรกิจ ที่คณะ ICT Mahidol จะสอนกระบวนการทำธุรกิจให้กับนักศึกษา ประกอบกับการให้นักศึกษา ได้มีโอกาสวิเคราะห์ Case Study ที่น่าสนใจของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในแต่ละเรื่องอีกด้วย

3. โอกาสในการเรียนรู้ สำหรับ ICT Mahidol ทางคณะจะมีโครงการพิเศษ ๆ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ICT Mahidol และมหาวิทยาลัย หรือ องค์กรจากหลายประเทศ เพื่อส่งนักศึกษาที่สนใจไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย หรือ Project ที่จัดเตรียมมาให้ ในสมัยที่ผมศึกษาอยู่นั้น มีโอกาสในการร่วมงานวิจัยกับมหาวิทยาลัย Liverpool John Moores จากประเทศอังกฤษ สถาบัน Nara Institute of Science and Technology จากประเทศญี่ปุ่น และอีกหลายโอกาสที่ไม่ได้พูดถึง การส่งนักศึกษา ICT Mahidol ไปร่วม Project กับหลากหลายสถาบัน หลากหลายประเทศนี้ถือว่าเป็นการเปิดโลก และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักศึกษาเป็นอย่างมาก แล้วโอกาสแบบนี้หาได้ยากอีกด้วย ถ้าไม่ได้เกิดจาก connection และ MoU ที่คณะ ICT Mahidol มีร่วมกับสถาบันต่างๆ นอกเหนือจากโอกาสในต่างประเทศแล้ว โอกาสภายในประเทศก็จะมีการทำ Senior Project หรือ Project จบ ของนักศึกษา กับสถาบันในประเทศไทยที่มีความต้องการทางด้านเทคโนโลยีจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น Senior Project ของผมเองที่เป็นความร่วมมือของ ICT Mahidol และศูนย์วิจัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อสร้างซอฟต์แวร์ที่สามารถวิเคราะห์ DNA จากชิ้นเนื้อของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ถือว่าเป็นการทำให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้ของตนเอง สร้างประโยชน์จริง ๆ จากปัญหาจริง ๆ ที่ต้องการการแก้ไข ทำให้ Senior Project ของนักศึกษาหลาย ๆ กลุ่ม ไม่ใช่ Project ที่ทำไปเพื่อเรียนจบเฉย ๆ แต่มีโอกาสต่อยอดนำไปใช้ได้จริง

4. โอกาสในหน้าที่การงาน ก่อนนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จะเรียนจบ จะมีการจัดงาน Job Fair ที่คณะ ICT Mahidol ซึ่งเป็นการรวมบริษัทต่าง ๆ ที่มีความต้องการบุคลากรด้าน IT มาเปิดบูธรับสมัครงาน เรียกได้ว่าคณะพาอนาคตทางด้านการงานมาส่งให้ถึงที่ให้กับนักศึกษาทุกคนเลยทีเดียว และนักศึกษาปี 4 ส่วนใหญ่มักจะมีบริษัทที่ตอบตกลงรับนักศึกษาเป็นพนักงานแล้ว ก่อนเรียนจบแบบเป็นทางการเสียอีก รวมถึง connection ที่มีมายาวนานในวงการ IT และศิษย์เก่า ICT Mahidol ที่แน่นแฟ้นและคอยช่วยเหลือกันตลอดเวลา ไม่ว่าไปที่บริษัท IT ไหน ก็อาจจะเจอศิษย์เก่าจาก ICT Mahidol ทำงานอยู่ที่นั่นด้วย

5. เทคโนโลยีที่ได้เรียนรู้ ต้องยอมรับว่าโลกเทคโนโลยีมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คณะ ICT Mahidol เองก็พยายามที่จะอัปเดตเนื้อหาความรู้ และสิ่งใหม่ล่าสุดในวงการเทคโนโลยีเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และตัวคณะเองก็สนับสนุนให้นักศึกษาได้ทดลองเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ยกตัวอย่างเช่น หากนักศึกษาอยากทำ Project เกี่ยวกับเครื่อง Kinect ที่เป็นการตรวจจับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ก็สามารถทำเรื่องขอคณะให้ช่วยสนับสนุนซื้ออุปกรณ์นี้มาใช้เพื่อการศึกษาได้ หรือถ้าสิ่งที่นักศึกษาต้องการเรียนรู้นี้จำเป็นต้องใช้ Hardware Computer ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ก็สามารถขอให้คณะช่วยจัดการได้เช่นกัน และในส่วนของความรู้ที่จะได้จาก ICT Mahidol ถ้านับแค่ตอนที่สมัยผมเรียนจะมีประมาณนี้ครับ

  • Programming Skill: Fundamental (C), Object Oriented Programming (Java), Web Programming
  • Computer Architecture
  • Operating System
  • Compiler
  • Computer Network Technology: 1G-5G, WiFi Standard, Computer Security
  • Artificial Intelligence and Data Science: Regression, Neural Network, Clustering, Classification
  • IoT or Embeded Programming

หลายๆ หัวข้อที่กล่าวมาก็ยังไม่ได้ตกยุคซะทีเดียว แต่ในสมัยที่ผมเรียน บางเรื่องยังเป็นแค่ทฤษฎีอยู่เท่านั้น แต่วันนี้สามารถทำได้จริงแล้ว หรือบางเนื้อหาที่ผมเรียนนั้น ปัจจุบันทางคณะก็ไม่สอนแล้ว ด้วยความที่เทคโนโลยีได้เปลี่ยนผ่านไปเป็นสิ่งใหม่แล้ว เรื่องนี้เป็นสิ่งที่นักศึกษาเองต้องตระหนักรู้และขวนขวายในการอัปเดตความรู้ของตนเองเช่นกัน ทางคณะ ICT Mahidol พยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้การเรียนการสอนมีความล่าสุดในด้านเทคโนโลยี แต่คณะก็จะพยายามปูพื้นฐานด้าน Concept หรือ Mindset เพื่อให้นักศึกษาพร้อมที่จะศึกษาต่อยอดเองเมื่อเทคโนโลยีเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

และนี่คือประสบการณ์ของผมกับการเป็นนักศึกษา ICT Mahidol ครับ ส่วนตัวผมถือว่าผมประสบความสำเร็จจากการจบการศึกษาจากคณะ ICT Mahidol ผมได้มีหน้าที่การงานที่มั่นคงและได้นำความรู้หลายๆ อย่างที่ได้จากคณะไปใช้ทำงานได้จริง และยังสามารถทำให้ตัวผมเองหาความรู้เพิ่มเติมได้อยู่เรื่อยๆ อีกด้วย ถือว่าผมโชคดีและคิดถูกที่ในตอนนั้นผมเลือกที่จะเรียนที่คณะ ICT Mahidol ครับ

คุณชนกานต์ ชินชัชวาล CEO บริษัท Robolingo Co., Ltd.
ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) รุ่นที่ 7

ก่อนเข้าเรียนที่คณะ ICT นี้ ผมไม่มีความรู้ด้านไอที หรือ การเขียนโปรแกรมเลย คณะ ICT ให้ทุนผมในการเรียน 4 ปี และ สอนผมตั้งแต่เขียนโค้ดตัวแรก จนสามารถพัฒนาโปรแกรม / แอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้ และยังให้โอกาสผมไปแข่งขันในโครงการต่าง ๆ จนได้รางวัล รู้สึกโชคดีที่ได้มาเรียนคณะนี้ ทำให้ได้รู้จัก เพื่อน ๆ พี่ ๆ และ อาจารย์ที่ดี จนวันนี้สามารถเติบโตมีงานทำที่ดี ปัจจุบันสามารถเปิดบริษัทของตัวเองได้

คุณพงศกร เลิศเกียรติมงคล Proposition Sales Refinitiv (Thailand)
ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) รุ่นที่ 6

ทำไมถึงมาเรียนที่ ICT MAHIDOL
ก่อนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยช่วงปี 2551 ผมเป็นเด็กคนหนึ่งที่ไม่ได้มีความฝันเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ ว่าต้องสอบเข้าหมอบ้างละ เป็นวิศวะบ้างละ หรือคณะดังๆ ตามแต่ละสายวิชาชีพ สุดท้ายผมมีความคิดแค่ว่า ผมชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์ จึงคิดว่าเราควรทำงานเกี่ยวกับสายคอมพิวเตอร์เพราะน่าจะใช้เวลาทั้งวันกับมันได้แน่ๆ เหมือนเวลาที่เล่นเกม และประกอบกับที่ว่าเคยได้เรียนวิชาเขียนโปรแกรมภาษา C ในขณะที่เรียนอยู่ในชั้นมัธยมแล้วชอบ จึงได้ตัดสินใจที่จะเรียนต่อทางสายคอมพิวเตอร์นี้ แต่เนื่องจากที่ผมมีแนวคิดในอนาคตไปอีกว่า หลังจากที่เรียนจบแล้ว ทำอย่างไรถึงจะได้งาน เพราะในแต่ละปีย่อมมีรุ่นพี่ที่เรียนจบมาก่อน เข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นจำนวนมาก จึงมีความคิดที่ว่าต้องหาทางสร้างความได้เปรียบหลังจากเรียนจบ เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับคนอื่นๆ ด้วย ผมจึงเลือกเรียนคณะที่เป็นภาคภาษาอังกฤษ เพื่อที่อย่างน้อยเวลาจบออกมา จะได้สามารถทำงานในบริษัทต่างชาติได้ จึงเป็นที่มาว่าทำไมผมจึงเลือกคณะ ICT มหิดล

รู้สึกอย่างไรระหว่างที่เรียน
หลังจากที่ได้มามอบตัวและชำระค่าเทอม ก็รู้สึกว่าค่าเทอมแอบแพง เพราะตัวเองนั้นไม่ได้ทุนขณะที่สอบเข้า สิ่งแรกที่สอบถามกับทางคณะคือ มีวิธีที่จะขอทุนระหว่างเรียนได้ไหม ซึ่งคำตอบก็คือ คณะให้ทุนกับนักศึกษาแบบไม่ผูกมัดถ้าผลการเรียนทั้งปีผ่านเกณฑ์ จึงทำให้ผมต้องตั้งใจเรียนอย่างมาก ซึ่งผลสุดท้ายก็ไม่ผิดหวัง นั่นคือผมได้ทุนจนจบปีสี่

ด้านเนื้อหาการเรียน ก็ยอมรับว่าเป็นคณะที่เรียนค่อนข้างจะหนัก เพราะนอกจากเป็นสิ่งที่ไม่เคยเรียนแล้ว เนื้อหายังครอบคลุมหลายด้าน และยังเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นจะมีการเลือก Track ในชั้นปีที่ 3 เทอม 2 ซึ่งก็ยอมรับว่าเครียดตรงที่ว่า ไม่รู้จะเลือกสาขาอะไรดี เนื่องจากเป็นคนที่ไม่ได้มีความชอบด้านใดเป็นพิเศษ แต่เมื่อมองดูหลักสูตรดีๆ ก็จะพบว่าทางคณะได้ปูพื้นฐานในแต่ละสาขาไว้ให้แล้ว ทำให้ผมสามารถที่จะเลือกสาขาที่จะเรียนเจาะลึกลงไปในภายหลังได้ โดยเริ่มจากตัดตัวเลือกที่ตัวเองชอบน้อยที่สุดก่อน จนสุดท้ายก็เลือกสาขา Electronic Business Systems เนื่องจากเริ่มวางแผนชีวิตตัวเองไว้คร่าวๆ ว่า จะเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง หรือ ทำงานด้าน Business Analyst เพราะตนเองนั้น ได้มีแนวคิดที่ว่า คอมพิวเตอร์ไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดๆ ต้องมีโจทย์ทางธุรกิจเข้ามาให้แก้ไข จึงจะมีมูลค่า

ด้านกิจกรรมและการแข่งขัน ยอมรับว่าตอนที่ตัวเองเข้าเรียนนั้น คณะพึ่งเปิดมาได้เป็นปีที่ 6 อะไรหลายๆ อย่างจึงยังไม่เอื้ออำนวยมาก แต่เมื่อเพื่อนๆ ได้มาชวนลงแข่งขันรายการต่างๆ สุดท้ายตัวเองก็สามารถขอการสนับสนุนจากอาจารย์ได้ เพื่ออย่างน้อยเป็นรากฐานให้กับรุ่นน้องที่สนใจจะลงแข่งขันในรายการเดียวกันในอนาคต

ด้านสังคม เนื่องจากคณะ ICT เป็นคณะปิด หรือไม่ได้มีการเรียนร่วมกับคณะอื่นๆ โอกาสที่จะได้รู้จักกับเพื่อนต่างคณะจึงน้อยกว่าคณะอื่นๆ เมื่อเทียบจากการที่มีการเรียนร่วมกันในวิชา MUGE ก็ยอมรับว่าส่วนใหญ่จะรู้จักกันแค่ในคณะมากกว่า แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็ถูกชดเชยด้วยการไปเข้าร่วมกิจกรรมต่างที่ทางมหาวิทยาลัยจัด ทำให้สุดท้ายก็มีโอกาสได้รู้จักเพื่อนคณะอื่นๆ มากขึ้น

เรียนจบแล้วรู้สึกอย่างไร
แน่นอนว่าย่อมรู้สึกภาคภูมิใจที่ตัวเองนั้น สามารถฟันฝ่าอุปสรรคจนจบได้ และก็ได้เห็นประโยชน์ของวิชาต่างๆ ที่ทางคณะ ICT จัดไว้ให้เรียน กล่าวคือ เราจะมีความได้เปรียบเนื่องจากรู้พื้นฐานในด้านต่างๆ แม้ว่าความรู้เหล่านั้น อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ในที่ทำงานได้ทันที แต่เนื่องจากมีพื้นฐานอยู่แล้ว การที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม จึงไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินไปแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นภาษาก็เป็นสิ่งจำเป็นในการสมัครงาน ผมได้เห็นตัวอย่างของรุ่นน้องในที่ทำงาน ที่จบมาจากมหาวิทยาลัยอื่น แต่ไม่สามารถสมัครงานในบริษัทต่างชาติได้ เนื่องจากพูดภาษาอังกฤษได้ไม่คล่อง สุดท้ายก็ต้องไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่ม เพื่อให้ได้งานในบริษัทต่างชาติ ผมจึงคิดว่า การที่ผมได้มีโอกาสมาเรียนที่ ICT Mahidol นั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว

คุณกิตติ ออพิพัฒนา Head of strategy & corporate function บริษัทกรุงศรีนิมเบิล
ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) รุ่นที่ 2

สวัสดีครับ ผมชื่อ กิตติ ออพิพัฒนา จาก ICT Mahidol รุ่นที่ 2 Track: Database and Intelligent Systems (DB) อดีตเคยทำงานเป็น Programmer, Software tester และ IT management consultant โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Head of strategy & corporate function บริษัทกรุงศรีนิมเบิล กว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องขอขอบคุณคณะ ICT มากๆ ที่ได้ให้ความรู้พื้นฐาน และแก่นของความรู้ทางเทคโนโลยีต่างๆ รุ่นผมนั้นอาจจะโชคดีที่ได้เรียนหลายหลายไม่ได้เจาะลึก เพราะตอนนั้นเองก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าชอบอะไร จะเรียนต่อดี หรือทำงานสายไหน ซึ่งเพราะความรู้กว้าง และมีแก่นความรู้ที่ดีจากหลักสูตร ทำให้ผมมีโอกาสในการทำงานที่หลากหลายในสายงานเทคโนโลยี ที่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญเทคโนโลยีใหม่ ในเวลาที่จำกัด อีกทั้งการเรียนคณะด้านคอมพิวเตอร์ทำให้เราเป็นคนที่มีการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล มีตรรกะ ซึ่งสามารถใช้ในการแยกแยะปัญหา และแก้ปัญหาแบบเป็นระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำงานในสายที่ปรึกษา ผมสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่าถ้าไม่ได้เรียนคณะ ICT วันนั้นคงไม่มีวันนี้
ปัจจุบันคณะ ICT ได้ผลิตแรงงานสาย IT ให้แก่หลายหน่วยงานชั้นนำระดับประเทศ และภูมิภาค ในหลายๆแวดวงธุรกิจ ที่ทุกครั้งที่มีกิจกรรมจากสมาคมศิษย์เก่า ICT Mahidol ก็ทำให้เราสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ และช่วยเหลือกันและกันได้เป็นอย่างดี รวมถึงอาจารย์ที่น่ารักซึ่งช่วยให้คำปรึกษาทั้งในด้านความรู้ และการใช้ชีวิตด้วย แม้จะเรียนจบไปแล้วแวะมากี่ครั้งก็ยังได้รับคำปรึกษาและข้อคิดดีๆ เสมอ

คุณอัคคสิทธิ์ ตรุงกานนท์ CTO บริษัท Course Square Co., Ltd.
ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) รุ่นที่ 1

ผมได้รับประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ จากคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล ถ้าให้พูดในเชิงวิชาการ วิชาต่าง ๆ ด้าน ICT มีเนื้อหาที่กว้าง และเป็นเชิงทฤษฎีมากกว่าเชิงปฏิบัติ ตอนเริ่มเรียนแรกๆ เราอาจจะยังนึกไม่ออกว่าจะได้ความรู้อะไร และจะนำความรู้ไปใช้งานจริงได้อย่างไร แต่พอผ่านไปสักสองสามปี เราจะรู้ว่างานสายไอทีเกือบทุกงานต้องการความรู้พื้นฐานที่ได้เรียนมาจากคณะ ICT มหิดลนี่แหละ และกลายเป็นว่าแนวคิดพื้นฐานพวกนี้ มีประโยชน์มากสำหรับผมในการติดตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากด้านวิชาการแล้ว ทุกคนที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ พี่ ๆ เจ้าหน้าที่ และเพื่อน ๆ น่ารักมาก คอยช่วยเหลือสนับสนุนผมมาโดยตลอด สอนผมในเรื่องต่าง ๆ ทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียน มีความทรงจำดี ๆ ร่วมกันมากมาย เป็นความผูกพันที่ผมประทับใจมากครับ

คุณไชยศิริ กังวาลยศศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ SC.Group Co.,Ltd
ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) รุ่นที่ 1

ก่อนเรียนที่ ICT Mahidol ผมชอบใช้คอมพิวเตอร์ต่ออินเทอร์เน็ตเข้า webboard และ เล่นเกม ความเร็วเน็ตสมัยแรก 64K เสียค่าต่อครั้งละ 3 บาท เล่นเกือบทุกวันเลยเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเรียนคอมพิวเตอร์และมาเรียนที่ ICT Mahidol

หลังเข้ามาเรียน มีวิชาปรับพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และได้เรียนรู้กระบวนการสร้าง software, การออกแบบระบบ Digital, Data Structure, การสร้าง Algorithm, CyberSecurity, ความเข้าใจเรื่อง Compiler, Computer Network และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนตัววิชาที่ผมชอบมากที่สุดคือสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ เพราะทำให้ผมรู้ต้นกำเนิด การออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ไปจนถึงความเข้าใจในเรื่อง Protocol ที่เป็นต้นแบบการสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์มาจนถึง ตัว TCP/IP ที่เรายังใช้กันอยู่ทุกวันนี้

ถึงตอนนี้ ผมเรียนจบมาแล้ว 13 ปี ความรู้ต่างๆ ยังถูกเอามาใช้เป็นพื้นฐานให้ผมเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่องได้ เพราะเรามีพื้นฐานที่ดี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ตัวผมสนุกที่ได้ทำงานและทำธุรกิจส่วนตัวในสายงานนี้

ต้องขอขอบพระคุณคณาจารย์และทีมงาน ICT Mahidol ทุกท่านที่ช่วยให้ความรู้ ใส่ใจ เข้มงวดกวดขันและให้ประสบการณ์ที่ดี ผมเชื่อว่าถ้าน้องๆ มีโอกาสได้เข้าเรียนที่ ICT Mahidol อยากให้มีน้องๆ มีความตั้งใจ เปิดกว้าง คิดตาม และเก็บเกี่ยวความรู้ให้ได้มากที่สุด ผมเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จกันทุกคนแน่นอนครับ