พันธกิจของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) คือ การให้การสนับสนุนด้านวิชาการที่ดีที่สุดแก่นักศึกษา ดังนั้นคณะฯ จึงจัดเตรียมคอมพิวเตอร์และและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านไอทีที่ทันสมัยไว้ให้นักศึกษา เพื่อเป็นการสนับสนุนพัฒนาการด้านวิชาการ และเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ของนักศึกษาอีกด้วย
คณะฯ มีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (servers) จำนวนมาก สำหรับใช้ในการบริหารจัดการทั่วไป และสำหรับให้นักศึกษาใช้ในการเรียน หรือทำโครงงานวิจัย (project) ต่าง ๆ โดยในแต่ละห้อง ทั้ง ห้องเรียน และห้องปฏิบัติการทางคอมพิวเตอร์ (Computer Laboratory) นักศึกษาสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ผ่านการเชื่อมต่อทั้งแบบมีสาย (Wired) และไร้สาย (Wireless) นอกจากนี้ ในห้องปฏิบัติการทางคอมพิวเตอร์ขั้นสูง (Advanced laboratory) คณะฯ ได้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ทันสมัยไว้เพื่อรองรับนักศึกษาปีที่ 4 ในการทำปริญญานิพนธ์ (Senior Project) อีกด้วย
คณะฯ ได้ติดตั้ง เครื่องคอมพิวเตอร์, จอโปรเจกเตอร์ และเครื่องเสียง สำหรับใช้ในการเรียนการสอน และกิจกรรมอื่น ๆ ในทุกๆ ห้องเรียน นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้จัดเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องปฏิบัติการทางคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับการใช้งานด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานทั่วไป หรือการทำงานอีกด้วย
คณะฯ มีห้องประชุม “Bits & Bytes Hall” ซึ่งมีขนาดกว้างขวาง เหมาะสำหรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยห้องประชุม Bits & Bytes Hall นี้ นอกจากจะสามารถใช้จัดกิจกรรมที่รองรับคนจำนวนมาก อาทิ การประชุมนักศึกษา การจัดประชุมเชิงวิชาการ ฯลฯ แล้วนั้น ยังสามารถใช้จัดกิจกรรมขนาดย่อมที่ได้อีกด้วย เนื่องจากภายในห้องประชุมได้ถูกแบ่งสรรเป็น ห้องอบรม ห้องประชุมขนาดย่อยอีกหลายห้อง รวมถึงห้องชมภาพยนตร์ขนาดย่อมพร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัย
- ห้องสมุด
วิทยาเขตศาลายา เป็นที่ตั้งของหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รวบรวมหนังสือ, วิทยานิพนธ์ และงานวิจัย ไว้มากกว่า 1,100,000 เล่ม รวมถึงวารสารฉบับพิมพ์ จำนวน 1,051 เล่ม, วารสารอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 39,000 เล่ม, หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 71,000 เล่ม และโสตทัศนวัสดุภาษาไทยและภาษาอังกฤษกว่า 20,000 ชิ้น
ภายในหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล มีเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องมือสำหรับรับชมสื่อต่าง ๆ กว่าร้อยเครื่อง รวมทั้งบริการพิเศษต่าง ๆ เช่น บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้าออนไลน์, การค้นคว้าแบบ multi-database หรือ การค้นคว้าโดยใช้ฐานข้อมูลแบบหลายชุด และบริการนำส่งเอกสาร / หนังสือระหว่างห้องสมุด
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีระบบระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ที่ติดตั้งอยู่ตามคณะต่าง ๆ ของแต่ละวิทยาเขต โดยระบบห้องสมุดอัตโนมัติเหล่านี้ สามารถเชื่อมต่อกับระบบของหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านฐานข้อมูล MULINET ได้ ซึ่งในแต่ละระบบห้องสมุดอัตโนมัติ จะมีหนังสือ, วารสาร และหนังสือเรียนตามแขนงต่าง ๆ มากมาย นอกจากนี้ นักศึกษาและบุคลากร ยังสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ เช่น บริการฐานข้อมูลออนไลน์ และ บริการยืมหนังสือระหว่างห้องสมุด ได้อีกด้วย อีกทั้งในบางคณะ / สถาบัน มีห้องสมุดเป็นของตนเอง ซึ่งได้รวมรวม หนังสือชุด และ วารสารทางการแพทย์และสาธารณสุข ไว้เป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
- ห้องปฏิบัติการ
มหาวิทยาลัยมหิดลทุกวิทยาเขตอุดมไปด้วยพื้นที่สีเขียว และมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านวิชาการและการวิจัย มีเครื่องมือต่าง ๆ ที่ทันสมัย มีบุคลากรฝ่ายสนับสนุนการศึกษาที่พร้อมช่วยเสริมสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอน และการทำงานที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ให้กับนักศึกษา ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกันและการทำงานวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศในหลายแขนง ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยโครงสร้างและฟังก์ชันของโปรตีน และศูนย์วิจัยโรคติดต่อนำโดยแมลง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้จัดตั้งหน่วยสร้างเสริมศักยภาพและพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัย ในการทำงานวิจัยสาขาใหม่ ๆ เช่น ชีวสารสนเทศศาสตร์, นาโนเทคโนโลยี และ นาโนศาสตร์ อีกด้วย
- สิ่งอำนวยความสะดวกด้านคอมพิวเตอร์
กองเทคโนโลยีสารสนเทศ (MUIT) ให้บริการด้านคอมพิวเตอร์และโครงสร้างการสื่อสารพื้นฐาน เพื่อใช้สำหรับงานวิชาการ, งานวิจัย และงานบริหาร รวมถึงบริการระบบเครือข่ายภายในองค์กร ซึ่งเชื่อมต่อวิทยาเขตทั้ง 6 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าไว้ด้วยกัน ระบบเครือข่ายภายในองค์กรนี้ สามารถรองรับโครงข่ายพื้นที่และการเชื่อมต่อได้อย่างน้อย 500 โครงข่าย และยังสามารถรองรับการเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์ได้มากกว่า 350 เซิร์ฟเวอร์ และ เครื่องคอมพิวเตอร์อีกกว่า 10,000 เครื่อง
- สิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬา
มหาวิทยาลัยมหิดล มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการกีฬาทั้งในร่มและกลางแจ้งพร้อมด้วยอุปกรณ์ครบครัน ในทุก ๆ วิทยาเขต ประกอบไปด้วย สระว่ายน้ำ, สนามบาสเกตบอล, สนามเทนนิส และโรงยิมในร่ม โดยเฉพาะที่วิทยาเขตศาลายา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มีสระว่ายน้ำทั้งหมด 5 สระ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีขนาด 50 เมตร หรือ เทียบเท่าขนาดความยาวของสระที่เป็นสนามแข่งโอลิมปิก นอกจากนี้ ยังมีฟิตเนสที่ครบครันด้วยอุปกรณ์สำหรับการออกกำลังกาย, อุปกรณ์สำหรับการเล่นเวทเทรนนิ่ง, ซาวน่า และลานแอโรบิคส์ อีกด้วย
ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนให้นักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการกีฬาอื่น ๆ เช่น สนามเทนนิส, สนามเปตอง, สนามฟุตบอล, สนามบาสเก็ตบอล และสนามวอลเลย์บอลในร่มขนาดใหญ่ รวมถึงสนามกีฬาในร่มอื่น ๆ ไว้บริการอีกด้วย
- ศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
เพื่อเป็นการตอกย้ำและบรรลุความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการศึกษาไปสู่การทำงานที่สร้างประโยชน์แก่สาธารณชนของมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สร้างศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล (MU Learning Center) ขึ้นมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นในการพัฒนาความสามารถของนักศึกษาในการคิดเชิงวิพากษ์, การสื่อสารอย่างชัดแจ้ง และการทำงานร่วมกัน
ศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล (MU Learning Center) ถือเป็นศูนย์กลางของการบริการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษา, บุคคลากร และผู้เยี่ยมชม ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ทั้งหมด 36,300 ตารางเมตร ติดกับสวนเจ้าฟ้า
- หอประชุม
หอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยมหิดล หรือที่รู้จักกันในชื่อ “มหิดลสิทธาคาร” เป็นหอประชุม 5 ชั้น โดย สองชั้นด้านล่างเป็นลานจอดรถ มีพื้นที่ใช้สอย 31,400 ตารางเมตร สามารถจัดกิจกรรมที่รองรับคนจำนวนมาก ทั้งระดับชาติและนานาชาติ เช่น พิธีการต่าง ๆ, การประชุมทางวิชาการ และนิทรรศการ โดยภายในหอประชุมมหิดลสิทธาคาร ประกอบไปด้วย เวทีหลัก, เวทีออเคสตรา, บริเวณพิเศษสำหรับพระราชวงศ์, นิทรรศการ, ห้องซ้อม และห้องทำการแสดง
การออกแบบหอประชุม “มหิดลสิทธาคาร” มีแนวคิดมาจากโครงสร้างเชิงกายภาพของมนุษย์ ซึ่งสะท้อนความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีรากฐานมาจากการแพทย์ ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทยและรูปทรงพรรณไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล “ดอกกันภัยมหิดล” (ชื่อพฤกษศาสตร์ Afgekiamahidoliae B. L. Burtt&Chermsir) ตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า)
- ด้านสาธารณสุข
เนื่องด้วยมหาวิทยามหิดล มีประวัติความเป็นมาจากการเป็นโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยฯ จึงได้รับการกล่าวขาน ว่าเป็นผู้นำทางด้านสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในไม่กี่มหาวิทยาลัยในโลกที่มีคณะแพทยศาสตร์สังกัดอยู่ถึง 2 คณะ ซึ่งในแต่ละปีสามารถผลิตแพทย์ชั้นนำได้กว่า 1,000 คน
บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล สามารถใช้สวัสดิการการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดลได้ โดยโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่งในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดลนี้ มีศูนย์ปฏิบัติการแพทย์เฉพาะทาง, ศูนย์ทันตกรรม และ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยเฉพาะทาง ที่ให้บริการทางการแพทย์ ทันตกรรม และบริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิขั้นสูง โดยมีเตียงสำหรับผู้ป่วยถึง 4,000 เตียง พร้อมให้บริการผู้ป่วยนอกประมาณ 4,500,000 ราย และผู้ป่วยในอีกมากกว่า 120,000 รายต่อปี
- หอพัก
บ้านมหิดล https://mahidol.ac.th/new-current-student/student-dormitory/
- รถบัสรับ – ส่ง
- รถราง