เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณมีประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ โปรดคลิก “ยอมรับ”

บุคลากรคณะ ICT ม.มหิดล (ICT Mahidol) ร่วมนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการมหิดลสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2566

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ICT Mahidol) ขอแสดงความยินดีกับบุคลากร 4 ท่าน ในโอกาสได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการมหิดลสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2566 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ผลงานวิชาการจากคณะ ICT ที่ได้เข้าร่วมการนำเสนอ ได้แก่

  • การศึกษาแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก ของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมหาวิทยาลัยมหิดล โดย คุณยุทธนา จีนสมุทร รักษาการรองหัวหน้างานวิศวกรรมและกายภาพ งานวิศวกรรมและกายภาพ
  • การศึกษาผลของการจัดอบรมหลักสูตรการดับเพลิงเบื้องต้นของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คุณสมศักดิ์ ธนาศรี รักษาการหัวหน้าหน่วยอาคารและภูมิทัศน์ งานวิศวกรรมและกายภาพ
  • แนวคิดการผลิตสื่อมัลติมีเดียด้วยสื่อความจริงเสมือนสำหรับการเรียนรู้ที่ยั่งยืนโดย คุณเฉลิมพล ภูวัชร์อดิสิฐ กองเทคโนโลยีสารสนเทศ (MUIT) สำนักงานอธิการบดี และ  คุณศิริรัตน์ วิทยาคุณสถิต นักวิชาการโสตทัศนศึกษา งานโสตและเทคโนโลยีสื่อการศึกษา
  • แนวทางการดำเนินงานพันธกิจสัมพันธ์กับสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดย คุณเด่น ทัพซ้าย เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป งานบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี

การนำเสนอผลงานในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. สมบูรณ์ ศิริสรรหิรัญ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ ดร.ภูมินท์ กิระวานิช รักษาการหัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาโลจิติกส์และระบบขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้คำแนะนำและการต่อยอดผลงานทางวิชาการ

การประชุมวิชาการมหิดลสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประจำปี 2566 จัดขึ้นโดย กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเปิดรับผลงานวิชาการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 เป้าหมาย ประกอบด้วย ขจัดความยากจน ขจัดความหิวโหย การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่เท่าเทียม ความเท่าเทียมทางเพศ การจัดการน้ำและสุขาภิบาล พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน ลดความเหลื่อมล้ำ เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยแบ่งกลุ่มหัวข้อความยั่งยืนสำหรับการนำเสนอผลงาน เป็น 4 กลุ่ม คือ Sustainable Environment: สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน Sustainable Health: สุขภาพที่ยั่งยืน Sustainable Social Enterprise: เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและธุรกิจเพื่อสังคม และ Sustainable Society: สังคมที่ยั่งยืน