เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณมีประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ โปรดคลิก “ยอมรับ”

บทสัมภาษณ์ ทีม Minerva owl นักศึกษา ICT ม.มหิดล คว้ารางวัลชนะเลิศ การประกวดไอเดียและสร้างสรรค์ผลงานในงาน “1st JobberHack Challenge”

HIGHLIGHTS

  • ประสบการณ์ในการประกวดไอเดียและสร้างสรรค์ผลงานในงาน “1st JobberHack Challenge”  การเตรียมตัว และสิ่งที่ได้รับจากการแข่งขันของทีม Minerva owl
  • ข้อคิดดีๆ ของทีม Minerva owl ที่ฝากถึงเพื่อนๆ น้อง ๆ ที่อยากเข้าร่วมการแข่งขัน

___________________________________________________________________________________

ในยุคที่ทุกสิ่งเข้าสู่โลกของดิจิทัล (Digital) ทั้งเรื่องของแนวโน้มการตลาด สื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซต์ แอพพลิ-เคชั่น บนสมาร์ทโฟนหรือธุรกิจ ไปจนถึงภาครัฐ หลายบริษัทและองค์กรได้มีการสนับสนุน และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่ภาคการศึกษาเช่นกัน

หากนึกถึงบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านดิจิทัล คงต้องนึกถึง บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด (Microsoft Thailand) และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS) ซึ่งเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ทั้งสองบริษัทได้ร่วมกันจัดโครงการประกวดไอเดียและสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อส่งเสริมการใช้ทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็นต่อการทำงานในศตวรรษที่ 21 สำหรับนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “1st JobberHack Challenge ติดอาวุธเสริมทักษะด้านดิจิทัล” 

จากการแข่งขันดังกล่าว น้องๆ นักศึกษาทีม Minerva owl ได้แก่ นายอาภากรณ์ เก่งการนา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 นางสาววิภาวรรณ จารุกิจพิพัฒน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 และนายภาดา กาญจนภิญพงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ม.มหิดล ได้คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 29 ทีม จาก 9 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และวันนี้ทางทีมงาน ICT Spotlight ได้มีโอกาสพูดคุยกับน้อง ๆ ทีม Minerva owl ว่าพวกเขามีการเตรียมตัวอย่างไรในการแข่งขันบ้าง รวมไปถึงข้อคิดที่อยากฝากถึงเพื่อน ๆ และน้อง ๆ

เพราะอะไรถึงเข้าร่วมโครงการนี้
เนื่องจากโครงการนี้ เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสองบริษัทใหญ่อย่าง Microsoft และ AIS ซึ่ง Challenge ของการแข่งขันครั้งนี้ คือ การนำผลิตภัณฑ์และเครื่องมือของทั้งสองบริษัทมาสร้าง Solution เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับพี่ ๆ SME ซึ่งดูเป็น Challenge ที่น่าสนใจสำหรับพวกเรา พวกเราเลยใช้โอกาสนี้ในการฟอร์มทีมแล้วร่วมลงแข่งขันครับ

บรรยากาศในการแข่งขันเป็นอย่างไร
มาวันแรกในงานเปิดตัวที่ตึก AIS Tower 1 พี่ ๆ จากทั้งสองบริษัทมีจัดงานอีเวนท์ โดยช่วงเช้าเป็น Session พูดคุยกับพี่ ๆ SME จาก KAMU, INN TRAIN และ THAI SMART PET ซึ่งพี่ ๆ ได้มาแชร์ประสบการณ์มุมมองการทำธุรกิจ รวมทั้งพูดถึงปัญหาที่พบ หรือปัญหาที่อยากให้แก้ไข ส่วนช่วงบ่ายเป็น Session สอน Design Thinking

หลังจากนั้น เราก็มีเวลาประมาณ 2 เดือนในการรวบรวมแนวคิดและพัฒนา Solution ให้เกิดขึ้นจริง พอถึงวันแข่งขันพวกเรามีเวลาเพียง 5 นาทีในการ Pitching สิ่งที่พวกเราคิดมาทั้งหมด และ Demo ระบบที่พวกเราสร้างขึ้นมา โดยเป็นการ Pitching ผ่าน Microsoft Teams ซึ่งการแข่งขันนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งสนามการแข่งขันที่ให้บรรยากาศที่แตกต่างไปจากเดิม ทำให้พวกเรารู้สึกตื่นเต้นไปอีกแบบ

น้อง ๆ มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
สำหรับการเตรียมตัวนั้น นอกจากการฟอร์มทีมแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ถือเป็น Challenge ไม่แพ้กับการแข่งขันในครั้งนี้เลย ก็คือการสื่อสารกันภายในกลุ่ม เนื่องจากวิกฤต COVID-19 ทำให้เราต้องทำงานแยกกัน โดยที่เราไม่สามารถมานั่งพูดคุยกันแบบตัวต่อตัวได้ พวกเราก็ต้องพูดคุยจัดการงาน วางแผน และประชุมกันในเวลาว่างในช่วงหัวค่ำหลังจากเลิกเรียนเสร็จแล้ว รวมทั้ง การสอบถามลูกค้าของเรา ซึ่งถือเป็นผู้ใช้งานระบบที่เราสร้างขึ้นผ่านการประชุมออนไลน์ด้วย ส่วนช่วงก่อนวันพรีเซนท์พวกเราก็ได้มีการซักซ้อมกันหลายครั้งมาก ทั้งเรื่องของการจับเวลาซ้อมพูด ช่วยกันเกลา Script ให้มีรายละเอียดที่ครบถ้วนและกระชับ รวมไปถึงการเตรียมตัวตอบคำถามที่กรรมการอาจจะถามได้ สุดท้ายพอถึงวันพรีเซนท์จริง ๆ ทุกอย่างก็ออกมาได้ตามที่คาดหวัง ก็ถือว่าคุ้มค่าที่ใช้เวลาซักซ้อมกันนานหลายชั่วโมงเลยครับ

อะไรคือสิ่งที่ได้รับจากการแข่งขันในครั้งนี้

สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ พวกเราก็ได้อะไรเยอะแยะมากมายเลย ทั้งในเรื่องของความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ของ Microsoft และ AIS ที่เราได้นำมาพัฒนาระบบของเรา ได้รู้จักถึงความสามารถของตนเอง รวมไปถึงการที่ได้นำความรู้ต่าง ๆ ที่เรียนมาในคณะเข้ามาช่วยบูรณาการในการแข่งขันครั้งนี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย นอกจากในเรื่อง Technical แล้วพวกเราก็ยังได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ได้สื่อสารพูดคุยกัน ได้รู้จักการวางแผน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ของพวกเราก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำลายกำแพงความกลัวและสร้างความมั่นใจให้กับพวกเราได้มากขึ้นด้วย

สุดท้าย อยากฝากอะไรถึงเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่อยากเข้าร่วมแข่งขันแบบนี้บ้าง
สำหรับสิ่งที่อยากฝากอย่างแรกเลยคือ ในเรื่องของการเชื่อมั่นในตัวเอง ในทุก ๆ ช่วงเวลาของการแข่งขัน ตั้งแต่เริ่มเขียนใบสมัครจนไปถึงก้าวเท้าขึ้นรับรางวัลบนเวที เพราะการที่เราเชื่อมั่นในตัวเองนั้น จะเป็นสิ่งที่คอยกระตุ้นและให้ความหวังเราอยู่เสมอว่าเราทำได้ เหมือนกับที่พี่เป้ (สมาชิกในกลุ่ม) พูดอยู่เสมอเวลาเรามีไอเดียอะไรใหม่ ๆ ว่า “พี่ว่าพี่ทำได้” มันเหมือนเป็นประตูด่านแรกที่อาจะทำให้เราได้ไปเจอสิ่งดี ๆ ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็ได้

อย่างที่สองคือ “การไขว่คว้าโอกาส จริง ๆ แล้วในชีวิตของเรานั้นมีโอกาสมากมายเกิดขึ้นอยู่รอบตัว แต่ว่าโอกาสเหล่านั้นจะไม่มีทางมาถึง ถ้าตัวเราไม่คว้ามันไว้” ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ การค้นหาและไขว่คว้าโอกาส “ถึงแม้เราจะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ แต่ถ้ามันเป็นโอกาสที่ดี การยื่นมือและลงมือทำอย่างเต็มที่ ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมมีคุณค่าอย่างแน่นอน”

และสุดท้าย พวกเราต้องขอขอบคุณทางคณะ ที่มอบโอกาสดี ๆ ในการพัฒนาศักยภาพ และส่งเสริมให้พวกเรา “กล้าที่จะลงมือทำ” และนำความรู้รวมถึงประสบการณ์จากการเรียนและการทำโปรเจ็คมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่สนใจเข้าร่วมแข่งขัน สามารถติดตามข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของคณะได้เลยนะครับ